Blog - True Incube

ก่อนลงทุนใน Startup นักลงทุนต้องพิจารณาอะไรบ้าง

#TrueIncube #Invesment #Startup #Startups #Business #BusinessModel #Financial

ต้องยอมรับเลยว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงการธุรกิจ Startup ถือว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว มีข่าว Startup ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุน และองค์กรขนาดใหญ่หันมาลงทุนสนับสนุนกลุ่มธุรกิจประเภทนี้กันมากขึ้น นักลงทุนรายย่อยก็หันมาสนใจดูธุรกิจประเภทนี้ด้วย รวมถึงมี Event เกี่ยวกับ Startup มากมาย ที่เกิดขึ้นให้พวกเราได้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง และไม่ว่าจะวงการธุรกิจใด จะในหรือนอกประเทศนั้น ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า " ธุรกิจประเภท Startup นั้นเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในวงการธุรกิจ และเป็นที่น่าจับตามอง ถึงกับถูกตั้งให้เป็นธุรกิจที่ได้รับการยอมรับว่าอาจจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีไอเดียนำเทคโนโลยีที่แปลกใหม่มาเปลี่ยนโลกเลยก็ว่าได้ " ถึงแม้ว่ามีธุรกิจ Startup ที่ประสบความสำเร็จ และเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ถือว่ายังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับ Startup ที่มีในปัจจุบัน " จากสถิติประมาณ 90% ของ Startup มักจะล้มเหลว " เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงปัญหาด้านการจัดการการตลาด ปัญหาของทีม หรือปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสูญเสียเงินทุนไปทั้งหมด หากมองในแง่ดี Startup ที่มีแผนธุรกิจที่ดีก็คือการลงทุนที่ดี หากนักลุงทุนพร้อมที่จะได้หรือสูญเสียเงินทุนทั้งหมด 100% ไปกับสิ่งที่เดิมพัน ซึ่งเป็นเรื่องที่แน่นอนว่านักลงทุนทุกคนต้องการความเสี่ยงต่ำ และต้องการที่มาของรายได้ที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจ Startup มีเหตุผลมากมายที่จูงใจให้อยากลงทุน แต่ก็มีเรื่องที่ควรศึกษาข้อูมลให้ดี และต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนส่วนใหญ่ควรกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนกระจายไว้หลาย ๆ ที่ บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักการลงทุนใน Startup เพื่อเป็นแนวทางการลดความเสี่ยงให้แก่นักลงทุน รวมถึงแนวทางการบริหารธุรกิจสำหรับ Startup

ประเภทของนักลงทุน

ก่อนที่จะเริ่มต้นลงทุนใน Startup ควรมาทำความรู้จักประเภทนักลงทุนใน Startup กัน ได้แก่ 1.Venture Capital หรือเรียกย่อๆ ว่า VC ที่ทุกคนคุ้นเคย คือ ธุรกิจการร่วมลงทุน เป็นการนำเงินลงทุนเข้าไปร่วมถือหุ้นในบริษัท ซึ่งเจ้าของเงินทุนเหล่านี้จะได้เป็นหุ้นส่วนของบริษัทด้วย และเมื่อถึงเวลาที่บริษัทมีกำไรก็จะทำการแบ่งตามสัดส่วนของการถือหุ้น โดยความคาดหวังของ VC คือต้องการให้บริษัทที่เข้าไปลงทุนสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ และจะขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์การลงทุนอื่นๆ 2.Corporate Venture Capital (CVC) ได้รับความนิยมมากในช่วง 2-3 ปีมานี้ เป็นการลงทุนของบริษัทใหญ่ โดยไม่ต้องผ่านการร่วมลงทุนกับนักลงทุนรายอื่นนอกบริษัท แต่ทำผ่านหน่วยงานของบริษัทโดยตรง มุ่งเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม เทคโนโลยี ที่จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่ง ส่งเสริมกลยุทธ์ และความสามารถในการแข่งขันของบริษัทแม่เป็นหลัก ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนทางการเงินด้วย ความต่างอย่างแรกของการลงทุนแบบ CVC กับ VC คือเรื่องของผลตอบแทนทางการเงินที่ต่างกัน การลงทุนแบบ VC คาดหวังถึงผลตอบแทนทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกๆ ส่วนการลงทุนโดยบริษัทแบบ CVC คือการลงทุนที่มากกว่าเรื่องทางการเงินเพียงอย่างเดียว 3.Angel Investor คือ นักลงทุนอิสระที่มาลงทุนแบบเน้นคุณค่าให้กับ Startup ในระยะเริ่มต้น เรียกว่าเป็นการ Seed เงินลงทุนให้ Startup ด้วยเงินทุนของนักลงทุนเอง ซึ่งจะแตกต่างกับ VC ทำให้เงินทุนที่มีไม่สูงมากนัก Angel Investors จึงเหมาะกับธุรกิจที่ต้องการใช้เงินลงทุนไม่กี่ล้านบาท 4.Government Grant คือ ทุนอื่นๆจากรัฐบาล โดยภาครัฐจะเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนธุรกิจในด้านของแหล่งเงินทุน เพื่อที่จะให้นักธุรกิจหน้าใหม่ หรือเหล่าสตาร์ทอัพได้เติบโตต่อไป 5.Crowdfunding คือ การระดมทุนจากมวลชน หมายถึงการระดมเงินทุนจากคนจำนวนมากทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มบนระบบอินเทอร์เน็ต ที่เรียกว่า Funding Portal ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของเหล่าผู้ประกอบการนั้นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จำนวนมาก

อะไรคือสิ่งที่นักลงทุนมองหาใน Startup : ศักยภาพในการเติบโตและโอกาสในตลาด

เมื่อรู้จักนักลงทุนใน Startup กันไปแล้ว เรื่องถัดมาที่ควรทราบคือ สิ่งที่นักลงทุนมองหาใน Startup? สิ่งแรกก่อนการลงทุน นักลงทุนควรทำความรู้จักกับ Startup นั้นๆเป็นอย่างดี ว่ามีศักยภาพในการเติบโตมากพอหรือไม่ หากได้พิจารณาแล้วเลือกลงทุนกับ Startup ที่คิดว่าจะประสบความสำเร็จ นักลงทุนอาจจะมีโอกาสที่จะทำกำไรได้อย่างมาก และอย่างรวดเร็ว ส่วนการลงทุนกับบริษัทที่ก่อตั้งมานานและมีพื้นฐานมั่นคง มักมีความเสี่ยงน้อยกว่าบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นดำเนินการ แต่ต้องยอมรับว่าอาจไม่มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดดเท่าธุรกิจ Startup รวมไปถึงการพิจารณาโอกาศในตลาด การมีตลาดที่ใหญ่และเติบโต เป็นสิ่งสำคัญสำหรับ Startup จุดสำคัญก็คือ Startup ต้องแสดงให้เห็นภาพว่า ทำไมสิ่งที่คุณกำลังนำเสนออยู่ มีขนาดของตลาดที่ใหญ่จนน่าดึงดูดนักลงทุนจริง ๆ หากมีคู่แข่งในตลาด ธุรกิจของ Startup มีจุดเด่นเหนือกว่าคู่แข่งอย่างไร บางครั้งบริษัทก็ตั้งเป้าไปที่กลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เน้นย้ำจุดยืนที่ชัดเจน เพื่อที่จะได้เปรียบคู่แข่ง อาจเป็นเรื่องยากที่เหล่า Startup จะกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้ในช่วงเวลาไม่กี่เดือน ดังนั้น นักลงทุนควรพิจารณาถึงผลิตภัณฑ์และ Market Size หรือ Community ให้ดี และตรวจสอบว่า ลูกค้าชอบผลิตภัณฑ์นั้น ๆ หรือไม่ หรือมีเสียงตอบรับอย่างไร อาจสอบถามจากคนรอบข้างว่า พวกเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ หากได้รับเสียงตอบรับในทางที่ดี Startup นั้นอาจมีโอกาศในการต่อสู้กับการแข่งขันนี้ได้ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ยกตัวอย่างการตรวจสอบโดยง่าย ที่ใครก็สามารถทำได้ นั่นก็คือ การเข้าไปดูช่องทางการสื่อสารของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Twitter และ Website หากพวกเขากล่าวแสดงความคำนึงถึงลูกค้าเป็นส่วนใหญ่ในบริการหรือผลิตภัณฑ์ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีว่า Startup นั้น ให้คุณค่ากับลูกค้า ซึ่งเป็นการสร้างฐานลูกค้า และความเชื่อถือจากลูกค้าอีกด้วย ช่วยสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้แก่นักลงทุน หากพวกเขาเน้นการสื่อสารที่คำนึงถึงแต่ตัวเอง เกี่ยวกับอุตสาหกรรม (เช่น เทคโนโลยี การตลาด) , การดำเนินงานภายในของบริษัท หรือการเป็น Startup ถือว่าพวกเขาเหล่านี้มักให้ความสำคัญแค่ผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่ใช่องค์กรที่คำนึงถึงลูกค้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนักลงทุนว่าต้องการเลือก Startup ที่มีมุมมองแบบใด

การมีทีมงานที่ดี

การที่ Startup มีทีมงานที่ดี เป็นหนึ่งในคุณสมบัติหลักที่นักลงทุนต่างมองหา เพราะลำพังแค่ไอเดียอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ Startup ต้องมีทีมงานที่มีความสามารถมากพอที่จะนำพาธุรกิจไปให้ถึงตามเป้าหมาย และทำให้องค์กรเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันบุคลากรให้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา หลายคนน่าจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ การลงทุนใน Startup เป็นการลงทุนในตัวบุคลากร ” ซึ่งสิ่งที่เราต้องมองหาในทีมงานขององค์กรนั้น ๆ คือ 1.ทีมงานมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกิจจริงหรือไม่ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของทีมที่ดี สามารถส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้หลายด้าน ตั้งแต่ด้านความทุ่มเทในการทำงานของสมาชิกในทีมและการทำงานร่วมกัน ไปจนถึงความทุ่มเทให้กับประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัท เพราะฉะนั้น สมาชิกในทีม Startup ควรมีประสบการณ์และควรทราบรายละเอียดหรือแก่นแท้ของธุรกิจที่พวกเขากำลังดำเนินการอยู่ และสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวเสริมความมั่นใจให้กับนักลงทุน 2. มองหาวุฒิภาวะ ไม่ว่าจะทำงานในธุรกิจด้านใด ต่างก็มองหาทีมงานที่มีวุฒิภาวะในการทำงานสูง เพราะนอกจากต้องมี IQ ( ความฉลาดทางสติปัญญา ) ซึ่งรวมถึงความเชี่ยวชาญ ที่ช่วยคัดกรองทีมงานให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจแล้ว ยังจำเป็นต้องมี EQ ( ความฉลาดทางอารมณ์ ) หรืออีกนัยหนึ่งคือ การมีวุฒิภาวะ ควบคู่กันไปด้วย3.ทีมงานมี passion ในธุรกิจของพวกเขามากแค่ไหน สังเกตุได้จากตัวเราหรือคนใกล้ตัว เมื่อมีความชอบหรือความหลงใหลในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรามักจะมีความทุ่มเทเป็นอย่างมากในการทำให้สำเร็จ และต่อให้เจอปัญหาใดก็มักจะฝ่าฟันวิกฤติไปได้ เฉกเช่นเดียวกับทีม Startup ที่มีความชอบหรือความหลงใหลในสิ่งที่ทำ จะทำให้ธุรกิจฝ่าฟันวิกฤติไปได้ และเป็นผู้นำในตลาดของตัวเอง 4. ทัศนคติของทีมงาน ทัศนคติของทีมที่มีต่อธุรกิจของตัวเองนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ นักลงทุนควรต้องรู้ว่า ผู้นำและสมาชิกในทีมมีความคิดย่างไร ซื่อสัตย์กับธุรกิจตัวเองมากแค่ไหน มีวิสัยทัศน์ คือเป็นผู้เล็งการณ์ไกล และมีวิธีจัดการกับสิ่งท้าทายในอนาคตหรือไม่ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างเปิดเผยระหว่างสมาชิกในทีมเกี่ยวกับอนาคตในบริษัทที่ทำอยู่อย่างไร

ผลิตภัณฑ์หรือบริการน่าดึงดูดแค่ไหน

ในแง่ของ Product นั้น ต้องมีความโดดเด่น สามารถแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ และมีจุดเด่นที่ลอกเลียนแบบได้ยาก ที่สำคัญต้องดูว่าธุรกิจนั้นกำลังแก้ปัญหาอะไรในตลาด แล้วโซลูชั่นที่คิดมานั้นตอบโจทย์แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ และขนาดของตลาดเล็กเกินไปด้วยหรือไม่ รวมถึงมีโอกาศการเติบโตสร้างรายได้ของตลาดมากแค่ไหน โดยทั่วไป Startup มีเวลาเพียงไม่กี่นาทีในการนำเสนอโครงงานต่อนักลงทุนหรือที่เรียกกันว่า การ pitch หาก Startup ยังไม่มี Product ที่วางขายในตลาด การทำสินค้าตัวอย่างจะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจสินค้าหรือบริการได้อย่างรวดเร็วขึ้น

แผนการทำธุรกิจที่เหมาะสม

สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่นักลงทุนมองหา คือ Startup มีการวางแผนธุรกิจที่ชัดเจน แผนธุรกิจที่ดีจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในอนาคตของ Startup รวมทั้งเป็นประโยชน์แก่นักลงทุนที่จะเป็นแหล่งเงินทุน โดยปกติแผนธุรกิจ จะบอกให้ทราบว่าปัจจุบันธุรกิจอยู่ในจุดไหน อนาคตจะไปอยู่ที่ใด ด้วยวิธีการอย่างไร โดยทั่วไปจะมีลักษณะดังต่อไปนี้ 1.การนำเสนอมีความน่าเชื่อถือ และสามารถเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ ซึ่งแผนธุรกิจที่ดี จะทำให้ผู้ร่วมลงทุนมีความเชื่อใจว่า Startup สามารถทำให้ความคิดตามแผนที่วางไว้เป็นไปได้จริง มีที่มาที่ไปอย่างไร จำนวนตัวเลขเหมาะสมหรือไม่ 2.มีลักษณะเฉพาะตัว ที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างจากแนวความคิดเดิมที่ผ่านมา แม้ว่าธุรกิจนั้นจะไปได้ดี แต่ถ้านักลงทุนมองว่าเป็นธุรกิจที่ลอกเลียนแบบได้ง่าย นักลงทุนก็อาจไม่สนใจลงทุนได้เหมือนกัน ข้อนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ Startup ต้องตระหนัก เพราะนอกจากจะขายความต่างแล้ว สิ่งสำคัญคือเอกลักษณ์ที่คู่แข่งหรือใครก็ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย ๆ 3.สามารถสะท้อนให้เห็นว่า มีการวางแผนการณ์ดำเนินงานมาอย่างดี แผนจะบอกถึงระดับความเตรียมพร้อมในธุรกิจที่จะลงทุน และชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการ มีความรู้เท่าทันในธุรกิจนั้น ๆ ได้ดีเพียงใด ถ้ามีระดับการเตรียมพร้อม ตลอดจนแผนเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ยิ่งทำให้ผู้ร่วมลงทุนรู้สึกเสี่ยงน้อยลง แผนการทำธุรกิจด้านอื่น ๆ ที่นักลงทุนมักพิจารณาว่า Startup นั้นน่าลงทุนหรือไม่ เช่น 1. Business Model ช่วยให้ startup มองธุรกิจได้รอบด้าน 2.Marketing Plan Startup จำเป็นต้องมองกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนเพื่อเน้นสร้างกลยุทธ์การตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย 3.Tracing มีการทดสอบตลาดอย่างสม่ำเสมอ 4.Financial Plan แผนการเงินจะเป็นตัวที่แสดงให้นักลงทุนเข้าใจว่า Startup ต้องการเงินลงทุนไปใช้ทำอะไรบ้าง นี่เป็นเพียงปัจจัยหลัก ๆ ที่หยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางใช้พิจารณาเบื้องต้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องลงลึกไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง เฉกเช่นเดียวกับการลงทุนประเภทอื่น ๆ ที่ควรมีความเข้าใจในรูปแบบธุรกิจนั้น ๆ ให้ดีพอก่อนจะเลือกลงทุน (เรียบเรียงโดย ศุภวรรณ พุ่มพวง : Internship of True Incube )